การเตรียมตัวก่อนไปสมัครงาน

        การสมัครงานเหมือนกับการไปเสนอขายสินค้า ซึ่งจำเป็นจะต้องเตรียมตัวให้ดี การเตรียมตัวก่อนสมัครงานเป็นสิ่งจำเป็น จะต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนจบการศึกษาในแต่ละปีจะมีผู้จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี อาชีวศึกษา ทั้งสายพาณิชย์ ช่างอุตสาหกรรมและครู ทั้ง ปวช. ปวส. ปีละหลายหมื่นคน กระจัดกระจายทั่วประเทศ ซึ่งรวมกันแล้วจะเป็นแสน ๆ คน และรวมกับผู้ที่ตกค้างจากปีก่อน ๆ ที่ยังไม่ได้งานทำอีกมาก
        ความเชื่อที่ว่าเรียนเก่งหรือเรียนดีแล้วจะหางานง่ายนั้น อาจไม่เป็นจริงเสมอไป ในยุคปัจจุบัน การรับคนเข้าทำงานในทุกวันนี้นั้นจะพิจารณาสิ่งอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น บุคลิกภาพ ความคล่องตัว ความอดทน ความเป็นคนมีปฏิภาณไหวพริบ เป็นต้น การเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ในการหางานทำหรือสมัครงานจึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีและควรเข้าทำนองที่ว่า "ฟอร์มดีมีชัยไปกว่าครึ่ง" การจะไปหางานหรือไปสมัครงาน เราที่จะต้องรู้ว่ามีอะไรที่น่าสนใจในตัวเรา สิ่งที่น่าสนใจนั้นต้องเป็นสิ่งที่ผู้สมัครนั้นสนใจด้วยก็เหมือนกับว่าคุณเป็นเซลแมนหรือเซลวูแมนที่จะเสนอขายสินค้า การเสนอขายสินค้าได้ จำเป็นจะต้องมีเทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ซื้อสินค้าพร้อมที่จะอยากได้สินค้าเอาไว้ ถ้าคุณทำได้ โอกาสที่คุณจะได้งานทำก็มีมาก การเตรียมตัวเพื่อการสมัครงาน และเพื่อให้สามารถหางานทำได้เร็วยิ่งขึ้นควรมีการเตรียมตัวดังนี้

        เตรียมหลักฐานการสมัครงาน

        ผู้สมัครงานจะต้องเตรียมหลักฐานการสมัครงานต่าง ๆ เช่น ใบรับรองผลการศึกษา, ใบสุทธิรูปถ่าย, บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนา, สำเนาทะเบียนบ้าน, ใบปลด รด.,และหลักหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี) หนังสือรับรองการฝึกงานจากผู้ที่เคยจ้างงาน หรือรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา นอกจากหลักฐานการดังกล่าวแล้ว ผู้สมัครงานควรเตรียมเครื่องเขียนปากกา ยางลบ ดินสอ ซองจดหมาย หลักฐานการสมัครงานควร เตรียมเอาไว้หลาย ๆ ชุด เพื่อสมัครงานหลาย ๆ แห่ง

        เตรียมเครื่องแต่งตัว

        ผู้สมัครงานควรเตรียมเสื้อผ้า รองเท้าที่สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับบุคลิกภาพของตนเอง ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง เพียงแต่ให้ดูสะอาดตา ตลอดจนทรงผมไม่ควรที่จะรุงรังจนเกินไป

        เตรียมตัวเตรียมใจ

        ผู้สมัครงานนอกจากเตรียมหลักฐาน เตรียมเครื่องแต่งตัวแล้ว จะต้องมีการเตรียมใจ พูดง่าย ๆ ก็คือ เตรียมใจ เตรียมกาย และเตรียมสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นหรือคิดว่าจำเป็นไว้ให้พร้อมเพราะว่าชีวิตที่อยู่ในวัยเรียนกับชีวิตที่อยู่ในวัยทำงาน มันแตกต่างกัน ถ้ายังอู่ในวัยเรียน ถ้าเรียน ไม่ดีก็สอบตก หรือเรียนซ้ำชั้น สอบใหม่ แก้ตัวใหม่ได้ ถ้าอยู่ในวัยทำงาน ทำผิดพลาด หรือผลงานไม่ดี อาจถูกตำหนิ หรือตักเตือน ภาคทัณฑ์ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปรับตัว ปรับใจ ปรับความรู้สึก พร้อมที่จะรับสภาพความเป็นผู้ใหญ่

        ก่อนสมัครงานควรรู้จักสิ่งเหล่านี้

        มนุษย์ทุกคนมีความสามารถและคุณค่าบางอย่างในตัวเองเสมอ หน้าที่ของคุณพยายามค้นหา (ถ้าคุณยังไม่รู้) ความสามารถนั้นในตัวเองและแสวงหางานที่เขาต้องการความสามารถนั้นให้เจอ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจสมัครงานตำแหน่งงานใด ๆ ก็ตามควรคำนึงถึง 2 จุดนี้ คือ รู้เขารู้เรา ดังสุภาษิตจีนที่ว่า "รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" นั่นเอง
ต่อไปจะเป็นรายละเอียดในแต่ละหัวข้อ

     1. "การรู้จักตัวเอง" หรือ รู้เรา
        ทำไมจึงต้องรู้จักตนเอง ที่ต้องรู้จักตนเองก็เพราะการหางานก็คือการ "ขาย" ตนเองชนิดหนึ่งเป็นการเสนอขายความรู้ ความสามารถ ของตัวเองให้แก่บริษัทนั่นเอง โดยการรู้จักตนเองนี้ก็จะต้องผ่านบันได 9 ขั้น แห่งการเข้าใจตนเอง ดังต่อไปนี้

        ขั้นที่ 1 : ค้นหาทักษะ (SKILL)
        จะเห็นว่าทักษะนั้นเป็นรากฐานของการทำงานทุกชนิด ไม่มีงานชนิดไหนเลยที่ไม่ต้องใช้ทักษะ ดังนั้นการค้นหาทักษะในตัวคุณจึงเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกของการทำงานคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยสนใจที่จะทำความเข้าใจกับตัวเองว่าเขามีจุดเด่น หรือความสามารถอะไรบ้าง 
        เมื่อถูกถามในเวลาสัมภาษณ์จึงมักงงเป็นไก่ตาแตก ตอบไม่ถูก ทำให้กลายเป็นคนที่ดูเหมือนไม่มีจุดเด่นอะไร ไม่มีใครมีทักษะที่ไม่สามารถหางานทำได้ สมมุติว่า คุณมีทักษะที่ชอบทำตามคำสั่งผู้อื่น คุณอาจจะพอใจกับงานประเภทที่ต้องถูกสั่งให้ทำ เช่น อาชีพเลขานุการ งานทางธุรการต่าง ๆ แต่บุคลิกของคุณกล้าแสดงออก ชอบโต้เถียงผู้อื่น คุณอาจเหมาะกับอาชีพประเภททนาย หรือนายหน้าก็ได้
        เห็นหรือไม่ว่า การค้นหาทักษะในตัวเองจะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อการหางานที่ถูกใจคุณถ้าเห็นด้วยเรามาเริ่มต้นกันเลยดีไหม? เพราะฉะนั้นตัวอย่างของทักษะ เช่น การตัดสินใจในตนเอง ความจริงใจต่อกัน การเป็นผู้นำ การสื่อสารเขียนหรือพูด ฯลฯ

        ขั้นที่ 2 : สำรวจจุดเด่นของตนเอง
        จุดเด่นของคุณก็มีผลกับการหางานมากพอ ๆ กับทักษะจุดเด่น เป็นลักษณะทางบุคลิกภาพที่ทุกคนมี งานทุกชนิดต้องการคนที่มีบุคลิกบางอย่างที่เด่นเป็นเฉพาะ เช่น ถ้าคุณจะไปทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ คุณควรมีบุคลิกที่เข้ากับคนง่าย รู้จักจัดการเกี่ยวกับคนหรือถ้าจะไปทำงานเป็นพนักงานบัญชี คุณควรมีบุคลิกที่ละเอียดรอบคอบ เป็นต้น จุดเด่นที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องมีแต่ลักษณะนั้นเท่านั้น เพียงแต่คุณมีลักษณะบางประการ ที่เด่นเหนือลักษณะอื่นอยู่บ้างเท่านั้น เพื่อจะให้มองภาพจุดเด่นที่ชัดขึ้น จึงขอยกตัวอย่างจุดเด่นเพิ่มเติมอีก เช่น สนใจใฝ่รู้ทางวิชาการ ปรับตัวง่าย ตื่นตัวอยู่เสมอ ดึงดูดความสนใจ ระมัดระวัง ความรับผิดชอบสูง มองการณ์ไกล เป็นการเป็นงาน ละเอียดรอบคอบ สง่าผ่าเผย ฯลฯ เป็นต้น

        ขั้นที่ 3 : สำรวจความสัมฤทธิ์ผลทั่วไป
        ในขั้นนี้เป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของการรู้จักตนเอง ขอให้คุณนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่มีความหมายสำหรับคุณในอดีตซึ่งอาจจัดว่า เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของชีวิต พยายามนึกให้ได้ว่าในชีวิตคุณมีความสำเร็จอะไรบ้างอย่าตอบว่าไม่มีเลย เพราะไม่จริง ในแต่ละวันที่เรามีชีวิตอยู่นั้น เราจะต้องมีความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ อาจเป็นความรู้สึกประทับใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะไม่มีความหมายสำหรับผู้อื่น แต่มีความหมายสำหรับตัวเรา เช่น ทำการฝีมือได้รางวัลชมเชยหรือต่อรูยาก ๆ ได้สำเร็จก็ได้ ความสำเร็จในอดีตนี้ช่วยในการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพได้ในอนาคต

        ขั้นที่ 4 : สำรวจความชอบ/ไม่ชอบ
        ในขั้นนี้เป็นของการลองกลับไปคิดใหม่อีกครั้ง ถึงเหตุการณ์สมัยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะตอนขณะอยู่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เป็นต้น ฯลฯ มีอะไรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นที่ทำให้คุณไม่ชอบใจบ้าง? และขอให้จำลักษณะบุคลิกของบุคคลที่คุณไม่ชอบใจนี้ไว้ด้วย คุณจะได้รู้ว่าบุคคลประเภทใดที่คุณอยู่ด้วยแล้วจะไม่มีความสุข

        ขั้นที่ 5 : สำรวจขีดจำกัด
        ไม่มีมนุษย์คนไหนที่สมบูรณ์ดีพร้อม คุณก็เช่นเดียวกัน เราทุกคนยังเป็นมนุษย์ที่ย่อมมีข้อบกพร่องการรู้จักตัวเองของคุณ ไม่ควรจะหมายความถึงการรู้จักแต่ส่วนดีของตัวคุณเท่านั้น คุณยังต้องรู้จักจุดอ่อน หรือขีดจำกัดของตัวคุณอีกด้วย จึงจะนับว่าเป็นการรู้จักตนเองอย่างแท้จริงจุดอ่อนที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางและทำให้คุณไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พยายามนึกทบทวนดูให้ดีและอย่าปิดบังตัวเอง คุณจะต้องพยายามทำความรู้จักกับกับทุกส่วนของบุคลิกคุณอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น คุณอาจเป็นคนมีความคิดอ่านดีในสมัยอยู่โรงเรียนมัธยม แต่คุณมักจะไม่กล้าใคร่แสดงตัวหรือแสดงความคิดให้ปรากฏ ทำให้ผู้อื่นรับหน้าที่นี้แทนคุณไป และความคิดเขาก็ไม่ได้ดีไปกว่าความคิดของคุณเลยถ้าเป็นเช่นนี้ แสดงว่าจุดอ่อนของคุณอยู่ที่การขาดความกล้า หรือไม่มีลักษณะเป็นผู้นำ เป็นต้น เมื่อสำรวจเสร็จก็ขอให้จดจำขีดจำกัดของตัวคุณไว้ เพื่อประกอบการพิจารณาเลือกสมัครงานในตำแหน่งนั้น ๆ ต่อไป

        ขั้นที่ 6 : สำรวจค่านิยม
        ค่านิยมคืออะไร และมีความสำคัญกับการหางานทำของเราอย่างไร? คุณอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจถึงความสำคัญของค่านิยมให้คุณลองนึกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ถ้าเผอิญคุณเป็นชาวพุทธ แต่เผอิญได้ได้ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ และคุณจะต้องลงมือเป็นผู้ลงมือฆ่าสัตว์เหล่านั้น คุณคิดว่า คุณจะทำงานหน้าที่นั้นด้วยความสบายใจหรือไม่และจะทำไปได้นานสักแค่ไหน? แน่นอนคุณคงทำไปด้วยความไม่สบายใจ และถ้าต้องทำต่อไป คุณก็คงจะอยู่ในงานนั้นได้ไม่นาน นั่นก็เพราะค่านิยมที่ตัวคุณยึดถือไปขัดกับค่านิยมงานที่คุณทำ
        ดังนั้นค่านิยม จึงหมายถึง สิ่งที่เรายึดถือว่า ดีงาม สมควรปฏิบัติ เช่น ค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ ความมั่นคง ความปลอดภัย และความเสียสละ เป็นต้น

        ขั้นที่ 7 : สำรวจความสัมพันธ์ที่มีต่อบุคคลอื่น
        สิ่งหนึ่งที่คุณต้องเข้าใจคือ
        คุณจะต้องอยู่กับคนไปตลอดชีวิต การเข้าใจความสัมพันธ์ที่มีต่อกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการอยู่ร่วมกัน และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
        ความสัมพันธ์ที่ต้องมีกับบุคคลอื่น ๆ จะต่างกันในงานแต่ละชนิดมีงานบางประเภทที่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นตลอดเวลา และบางประเภทก็แทบจะไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่นเลย
        ถ้าคุณสำรวจความสัมพันธ์แล้วพบว่า คุณชอบการสร้างสรรค์ พึงพอใจในการได้อยู่ในกลุ่มคน ก็แสดงว่าคุณคงจะมีความสุข ถ้าคุณได้งาน ที่เปิดโอกาสให้มีการสร้างสรรค์ และอยู่กับผู้อื่น แต่ถ้าคุณชอบอยู่ของคุณตามลำพังไม่ต้องการยุ่งกับผู้อื่นมากนัก ก็ไม่ควรไปสมัครงานที่ต้องการมนุษย์สัมพันธ์มาก ๆ อาจเลี่ยงไปทำงานประเภทที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข หรือวัตถุแทน เป็นต้น
        บุคลิกภาพของคุณและของงานแต่ละชนิดจะต้องถูกนำมาพิจารณาประกอบกันและหาตัวร่วมที่เหมาะสม เพราะคุณจะไม่มีความสุขเลย ถ้าคุณทำงานที่มีลักษณะไม่ตรงกับบุคลิกภาพของคุณ

        ขั้นที่ 8 : สำรวจสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
        คุณเชื่อหรือไม่ว่า สิ่งแวดล้อมในการทำงาน หรือบรรยากาศการทำงานมีผลอย่างยิ่งต่อสภาพจิตใจของคน? 
        ลองนึกง่าย ๆ ถ้าตัวคุณไปนั่งทำงานในห้องแคบ ๆ ไม่เจอผู้คนเลยทั้งวัน คุณจะทนทำไปได้สักกี่วัน?
        การทำงานนั้น มิใช่เป็นเพียงกระบวนการ ที่สักแต่จะให้ได้งานเท่านั้น แต่สิ่งแวดล้อมที่ประกอบการทำงานนั้นเป็นของสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวงานเลย
        ซึ่งมิได้หมายความว่าให้คุณเลือกทำงานแต่ในห้องแอร์ปูพรมจรดฝา แต่สิ่งที่กำลังอยากให้คุณพิจารณาคือ ความสามารถอย่างที่คุณมี จุดเด่น ทักษะ ความต้องการและค่านิยมของคุณนั้นควรจะเหมาะกับงานชนิดไหนและอยู่กับสิ่งแวดล้อมคร่าว ๆ อย่างไร แต่คุณจะต้องมีความยืดหยุ่น พอที่จะปรับความต้องการของคุณให้เข้ากับสิ่งที่คุณได้ตามสมควร

        ขั้นที่ 9 : ความต้องการเกี่ยวกับเงินเดือน
        คุณคงจะต้องพิจารณาคร่าว ๆ ถึงความต้องการว่าคุณมีความต้องการอย่างไรในเรื่องนี้ การเรียกร้องเงินเดือนเท่าใดนั้น คุณควรจะต้องไปทำการค้นคว้าว่าโดยทั่ว ๆ ไป บุคคลที่จบระดับการศึกษาเดียวกันกับคุณ หรือผู้ที่ทางบริษัทรับเข้ามาในตำแหน่งที่คล้ายกับคุณสมัครนั้น ได้รับเงินเดือนประมาณเท่าใด
        ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นงานราชการเงินเดือนที่คุณได้จะเป็นไปตามวุฒิที่ทางการกำหนดไม่มีการต่อรองแต่ถ้าเป็นบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจอาจมีอัตราการจ่ายเงินเดือนที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับขนาด ความมั่นคงและระบบการบริหารของบริษัท เช่น ถ้าเป็นบริษัทเล็ก ๆ ทำกันเองภายในครอบครัวก็อาจตั้งเงินเดือนให้คุณเองตามใจปรารถนาของเขาแต่บริษัทส่วนใหญ่ มักถือเอาตามวุฒิการศึกษาเป็นเกณฑ์ ในการจ่ายเงินเดือน
        ในกรณีที่คุณไม่มีการศึกษาสูงนัก แต่มีประสบการณ์ทำงานมากก็อาจได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน และได้เงินเดือนสูงพอ ๆ หรืออาจจะดีกว่าผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่าคุณ แต่ขาดประสบการณ์เท่าคุณก็ได้
        ดังนั้นถ้าคุณเคยมีประสบการณ์ในการทำงานที่คล้ายคลึงกับที่เขาต้องการ ย่อมจะมีภาษีกว่าผู้ที่จบใหม่ ๆ ที่รับเข้ามาก็ต้องมาเสียเวลาและค่าใช้จ่ายฝึกใหม่ นอกจากนี้ถ้าคุณมีประสบการณ์ทำงาน คุณมักจะต่อรองเรื่องเงินเดือนกับผู้จ้างได้มากกว่าผู้ขาดประสบการณ์
        อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะมีหรือไม่มีประสบการณ์ ความต้องการของคุณก็ยังเป็นตัวกำหนดการหางานและเงินเดือนที่คุณประสงค์อยู่นั่นเอง
 

  2. รู้เขา
                ควรจะต้องรู้ในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือ
                2.1 ตัวบริษัท
                        -ดำเนินธุรกิจอะไร เช่นอุตสาหกรรม,บริการ,ค้าขาย ฯลฯ
                        -ผลผลิตของบริษัท เขาผลิตอะไร เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ฯลฯ
                        -ที่ตั้งของบริษัท กรณีอยู่ไกลมีรถบริการหรือไม่ มีบ้านเช่าใกล้ ๆ หรือไม่ ค่าเช่าแพงหรือไม่ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถหาดูได้จาก แผ่นพับ ใบปลิว รายงายประจำปี ฯลฯ
                2.2 ตำแหน่งงาน
                        เพื่อให้ผู้สมัครได้สำรวจตนเองว่ามีคุณสมบัติเบื้องต้นตรงความต้องการหรือไม่ ถ้าตรงแสดงว่าคุณผ่านการคัดเลือกแล้วเปลาะหนึ่งโดยควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงาน คือ 
                        -หน้าที่เหล่านั้นต้องปฏิบัติอย่างไร ต้องใช้ความสามารถด้านไหน เช่น ต้องการพนักงานขาย ควรมีความคล่องตัว กิริยามารยาทเรียบร้อย รู้ใจผู้ติดต่อ
                        -ตำแหน่งที่ต้องทำเกี่ยวข้องกับตำแหน่งใดบ้าง
                2.3 ค่าตอบแทน ซึ่งประกอบด้วย
                        -เงินเดือนหรือค่าจ้าง
                        -สวัสดิการต่าง ๆ 

        บุคคลที่นายจ้างต้องการ

        1. มีคุณวุฒิตรงกับนายจ้างต้องการ
        2. มีบุคลิกภาพที่ดี
        3. ทำงานเข้ากับคนได้
        4. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรอบคอบ คิดเป็นระบบ กระตือรือร้น
        5. มีความพร้อมในการปฏิบัติงานทุกด้านเสมอ
        6. มีวัฒนธรรมที่ดี มีความซื่อสัตย์ มีวินัยต่อหน้าที่การงาน
        7. มีความเอื้ออาธรให้กับเพื่อนร่วมงาน
        8. จะต้องเป็นนักคิด นักวางแผน นักปฏิบัติงานที่ดี
        9. มีความตรงต่อเวลา
        10. มีความรู้ทันโลก
        11. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
        12. มีความอดทนต่องาน
        13. ความรู้ทางด้านภาษาต้องรู้หลาย ๆ ภาษายิ่งดี
        14. เป็นคนทันต่อเหตุการณ์
        15. เป็นคนทันคน มีไหวพริบ มีสติปัญญา

 ข้อแนะนำก่อนเลือกสมัครงาน

        1. ต้องมีทิศทางในตัวเอง
        2. ต้องรู้จักตนเอง
        3. รู้แหล่งงาน ถ้าไม่โทรถามให้แน่ใจข้อมูลตำแหน่งที่ตนจะสมัคร
        4. เวลาไปสมัครให้ไปคนเดียว
        5. หลักฐาน ควรเตรียมไปให้ครบ โดยเฉพาะรูปถ่าย ให้ใช้รูปนักศึกษาจะดีกว่า
        6. การเขียนจดหมายสมัครงานควรระวัง การเขียนหน้าซองถึง บก. ในซองถึงผู้อำนวยการอีกแห่ง
        7. ในเรื่องเงินเดือนควรรู้เกณฑ์มาตรฐานคร่าว ๆ ไว้ก่อน ถ้าไม่รู้จริง ๆ เขียนไว้เป็นช่วง ๆ เป็นการประมาณ เช่น 7,000-10,000 บาท (นี่เป็นอัตราทั่วไปสำหรับบัณฑิตปริญญาตรี) หรือถ้าเราเองก็ยังไม่แน่ใจก็เขียนไปว่า "ตามแต่ตกลงกัน" (NEGOTIABLE)
        8. ประวัติ เขียนโดยย่อ ๆ และเขียนทุก ๆ ช่องที่กำหนด
        9. คุณวุฒิการศึกษา เริ่มจากวุฒิสูงสุดก่อน แล้วค่อย ๆ ไล่ย้อยลงไปจนสิ้นสุดที่ระดับมัธยมศึกษา เพื่อความสะดวก ควรเอาเดือน ปี ขึ้นก่อนแล้วค่อยตามด้วยวุฒิและสถาบัน 
        10. ประสบการณ์ในการทำงาน ควรใส่มากโดยเฉพาะที่ตรงกับตำแหน่งที่เราสมัคร
        11. ประสบการณ์ในงานกิจกรรม ระหว่างศึกษาให้ใส่ให้ครบทุกกิจกรรมที่มีส่วนร่วม
        12. สถานที่ติดต่อกลับ ควรชัดแจ้งและถ้าช่วงปิดเทอมควรให้ที่อยู่ต่างจังหวัดด้วย หากมีโทรศัพท์ให้ใส่ด้วย ควรแจ้งผู้รับโทรศัพท์ที่บ้านให้สั่งฝากข้อความโดยจำชื่อบริษัทให้ชัดเจน
        13. สถานศึกษาควรใส่ บางครั้งอาจสำเร็จการศึกษาตรงกับผู้สัมภาษณ์หรือผู้จัดการ
        14. ความรู้ความสามารถที่เด่นควรใส่ให้ครบ มีทักษะพิเศษอะไรใส่ลงไปเลยไม่ต้องถ่อมตัวโดเฉพาะที่เป็นจุดเสริมในตำแหน่งที่สมัคร เช่น พิมพ์ดีดได้ ใช้คอมพิวเตอร์เป็น ฯลฯ งานอดิเรกก็เช่นกัน เช่น ถ่ายภาพ วาดเขียน ฯลฯ ใส่ลงไปเถอะขอให้เป็นเรื่องจริงและฟังดูมีสาระหน่อยสิ่งเหล่านี้อาจทำให้คุณมีอไร ๆ น่าสนใจขึ้นกว่าคนอื่น ๆ 
        15. บุคคลอ้างอิง ก่อนจะใส่ชื่อเขาควรบอกให้เจ้าตัวทราบก่อน
        16. บุคลิก กล้าพูด กล้าแสดงออก ไม่ตอบเอาใจนายจ้างรวมถึงการแต่งตัวดี บุคลิกดี สังคม ธุรกิจมักจะชื่นชมบุคคลที่มีความเก่งและกล้า
        17. รู้จักคนในบริษัท อย่าแสดงมารยาทรู้จักและวุ่นวายมาก

 แหล่งข้อมูลการสมัครงาน

        1. ตามหนังสือพิมพ์รายวัน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หนังสือพิมพ์มักมีข่าวการเปิดรับสมัครงานที่ทุกคนให้ความสนใจ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วัฏจักร มติชน ไทยรัฐ BANKKOK POST (คอลัมน์ BANKKOK POST CLASSIFIED) THE NATION ฯลฯ 
        2. ประกาศตำแหน่งงานว่างตามสถาบันการศึกษา ผู้สมัครงานควรตรวจดูประกาศรับสมัครงานตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดรับสมัครงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน
        3. ญาติพี่น้องหรือบุคคลที่รู้จักมักคุ้นกัน ในสังคมไทย ญาติพี่น้องหรือบุคคลที่รู้จักมักคุ้นถือว่าเป็นแหล่งงานที่สำคัญ
        4สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กองการสอบ ชั้น 4 ถนนพิษณุโลก เป็นศูนย์รวมข่าวการสอบของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ
        5กรมการจัดหางานโดยการติดต่อโดยตรงที่สำนักงานจัดหางาน กรมการจัดหางาน กรุงเทพมหานคร สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพ ทั้ง 9 เขต
        6. อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยท่าน ได้ทำการติดต่อธุรกิจเอกชนในฐานะเป็นนักวิจัยหรือที่ปรึกษาสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้เชิญบุคคลากรเอกชนมาเป็นอาจารย์พิเศษท่านเหล่านี้สามารถช่วยหางานได้
        7. ศิษย์เก่าจากสถาบันการศึกษา ได้ทำงานกระจัดกระจายอยู่ในภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยทั่วไปศิษย์เก่าซึ่งเป็นรุ่นพี่จะยินดีช่วยเหลือรุ่นน้องอยู่แล้ว
        8. สมุดโทรศัพท์ สมุดหน้าเหลือง (YELLOW PAGES) ผู้สมัครสามารถทราบได้จากสมุดหน้าเหลืองหลายด้าน เช่น ประเภทของธุรกิจแยกประเภทตามตัวอักษร บริษัทหรือธุรกิจใหญ่โต มักมีเนื้อที่โฆษณามาก มีหมายเลขหลายหมายเลข ระบุที่ตั้งบริษัทอีกด้วย ผู้สมัครงานอาจจะโทรศัพท์หาข่าวจาก
ผู้จัดการฝ่ายบุคคล หรือเขียนจดหมายสมัครงานส่งไปที่บริษัทได้
        9. สมาคมที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่น สมาคมการจัดงานบุคคลแห่งประเทศไทย มีนโยบายช่วยเหลือผู้จบการศึกษาทุกระดับอยู่แล้ว โทรศัพท์ติดต่อ ถามข้อมูล ตำแหน่งงานว่างหรือขอให้ลงโฆษณาคุณสมบัติของผู้สมัครงานในวารสารของสมาคมในคอลัมน์บุคคลที่น่าสนใจก็ได้
        10งานวันนัดพบแรงงาน ซึ่งนายจ้างกับลูกจ้างได้มีโอกาสพบกันและจ้างงานกันโดยตรง
        11. การสมัครงานกับสำนักงานจัดหางานเอกชนควรตรวจสอบก่อนว่า สำนักงานจัดหางานนั้นได้จดทะเบียนกับการจัดหางาน กระทรวงแรงงานแล้วหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาการหลอกลวง และการเรียกเก็บเงินค่าบริการเกินกำหนด
        12. สำหรับการติดต่อสมัครงานกับนายจ้างโดยตรง ผู้สมัครงานจะต้องใช้เวลาและใช้เงินในการหางานทำ เพราะต้องออกไปหางานด้วยตนเองตามแหล่งต่าง ๆ
บริษัท บอส เอ้าท์ซอร์สซิ่ง เซอร์วิส จำกัด 
184/53-56, 58-59 อาคารฟอรั่มทาวเวอร์ ชั้น 15 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 
โทร. 02-645-4071-3 ext.101-103 แฟกซ์. 02-247-8049, 02-247-7980
Today : 130 | Yesterday : 271 | Month : 6066 | Year : 124237 | Visit all : 943309